นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ชื่อเล่น ตุ๋ย เป็นบุตรของ พลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร เป็นหลานปู่พระยาสาลีรัฐวิภาค กับ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: สุมาวงศ์) อดีตดาวจุฬาฯ เป็นบุตรีพระมนูเวทย์วิมลนาท อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรและประธานศาลฎีกา
ชีวิตครอบครัว สมรสกับ นางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (นามสกุลเดิม: โทณวณิก) มีบุตรธิดารวมกันทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ชลิตา, ภัทร และฝาแฝด ภัทรพร-ภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค
นายพีระพันธุ์ จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปริญญาโททางด้านกฎหมายอเมริกันทั่วไปและกฎหมายเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยทูเลน สหรัฐอเมริกา
นายพีระพันธุ์ มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการมาก่อน เข้าสู่แวดวงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตห้วยขวาง ดินแดง ในปี พ.ศ. 2539 ร่วมทีมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ บทบาทในสภา ฯ ของนายพีระพันธุ์ เป็นไปในทางการตรวจสอบการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของกองทัพ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2548 มีผลงานสำคัญคือการสอบสวนการทุจริต "ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท" ซึ่งถูกนำไปใช้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลและประสบชัยชนะ ทำให้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่พร้อมดอกเบี้ยนับหมื่นล้านบาท
ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นายพีระพันธุ์ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานครได้
ย้ายไปลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคส่ง พันเอกเฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ลงสมัคร ส.ส.เขต แทน แต่ พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 นายพีระพันธุ์ได้ลงรับสมัครในเขต 3 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตลาดพร้าว และเขตวังทองหลาง คู่กับ นายธนา ชีรวินิจ และ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา สามารถนำทีมชนะการเลือกตั้งทั้ง 3 คน โดยนายพีระพันธุ์ ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ของเขต
ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็น อดีตผู้พิพากษาและข้าราชการตุลาการ ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเงา
นายพีระพันธุ์ยังทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณานโยบาย งบประมาณ และประสิทธิภาพกองทัพ รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 และกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญอื่นๆ อีกหลายคณะ
วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย
ในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่มีการรัฐประหารโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีทหารกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปในบ้านนายพีระพันธุ์ ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นบ้านของ พลตำรวจตรีพีรพันธุ์ เปรมภูติ นายตำรวจคนสนิทของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะต้องโทรศัพท์มาขอโทษด้วยตัวเอง